http://www.consumerprotection.or.th
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 สิทธิและหน้าที่ของผู้บริโภค  เกี่ยวกับสมาคม  ผลการดำเนินงาน  สมัครสมาชิก  ติดต่อเรา
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   
การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อออนไลน์
การใช้ยาอย่างสมเหตุผล
สาระน่ารู้เกี่ยวกับผู้บริโภค
ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ด้านบริการทางการแพทย์
ด้านอสังหาริมทรัพย์
ด้านอื่น ๆ
บทความ
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง




 

เพิ่ม'เบี้ยผู้สูงอายุ' 1 พันบาท 'ถ้วนหน้า' ปูทาง'บำนาญประชาชน'?

เพิ่ม'เบี้ยผู้สูงอายุ' 1 พันบาท 'ถ้วนหน้า' ปูทาง'บำนาญประชาชน'?

นับเป็นอีกก้าวย่างสำคัญ ในการผลักดันวาระ ‘บำนาญประชาชน’

เมื่อ ‘คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ’ ภายใต้ ‘คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม’ มีมติเห็นชอบการปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาท/คน/เดือน ‘แบบถ้วนหน้า’ ก่อนนำเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม พิจารณาต่อไป

“เรื่องเบี้ยผู้สูงอายุ ก่อนหน้านี้ มีการจ่ายแบบขั้นบันได คือ 600 บาท 700 บาท 800 บาท และ 1,000 บาทต่อเดือน ต่อไปจะได้เป็นแบบถ้วนหน้า แล้วก็จะได้เป็น 1,000 บาททุกคน ดังนั้น พี่น้องผู้สูงอายุ จากเดิมที่ได้แบบขั้นบันไดและไม่ถ้วนหน้า จากนี้ไปจะได้เป็นเดือนละ 1,000 บาทแบบถ้วนหน้า

แต่ตรงนี้เป็นการเห็นชอบของคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งต้องนำเสนอเข้าคณะกรรมการใหญ่ (คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ที่มี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน) อีกครั้งหนึ่ง” วราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ แถลงเมื่อวันที่ 21 ก.พ.2567

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เสียงเรียกร้องของภาคประชาชนในการจัดทำ ‘บำนาญประชาชน’ ดังขึ้นเรื่อยๆและต่อเนื่อง

กระทั่งในการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566 มีพรรคการเมืองอย่างน้อย 10 พรรค นำเสนอนโยบายการสร้างหลักประกันด้านรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ ผ่านนโยบายบำนาญแห่งชาติ และการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็น 3,000-5,000 บาท/คน (

แต่แล้ว ความหวังในการผลักดันนโยบายบำนาญแห่งชาติหรือการปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ ให้ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือเป็น 3,000 บาท/คน ค่อยๆริบหรี่ลง เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมนำโดย ‘พรรคเพื่อไทย’ ซึ่งมีนโยบายสำคัญ คือ นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท

ถึงกระนั้น ข้อเสนอเรื่อง ‘บำนาญประชาชน’ ก็ไม่ได้จางหายไปไหน และยังคงถูกขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากเครือข่ายภาคประชาสังคม และฝ่ายการเมือง โดย ส.ส.ในสภาฯ

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 29 ก.พ.ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเห็นชอบ รายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน ของคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม และจะส่งรายงานฯฉบับนี้ไปยังรัฐบาลต่อไป

“รายงานของคณะกรรมาธิการฯ ผ่านสภาฯไปแล้ว และจะไปตั้งอยู่ที่โต๊ะคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนจะบรรจุเข้าวันไหน หรือ ครม.จะเห็นควรอย่างไรกับรายงานฉบับนี้ เช่น นำไปพิจารณาเพื่อต่อยอด หรือดำเนินการอย่างไร ก็ต้องแล้วแต่ ครม.” ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.ก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา

ณัฐชา ระบุด้วยว่า นอกจากการเสนอรายงานผลศึกษาฯไปให้รัฐบาลพิจารณาแล้ว สส.ในคณะกรรมาธิการฯ 15 คน และเพื่อน สส.อีก 5 คน ได้ร่วมลงชื่อเสนอ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ในมาตรา 11 (11) โดยเสนอยกเลิกความใน (11) ของมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560

“เรายื่นร่างกฎหมายไปแล้ว โดยขอแก้ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ มาตราเดียว คือ มาตรา 11 เพื่อให้ ครม.มีอำนาจในการพิจารณากำหนดวงเงินในการจ่ายให้ผู้สูงอายุได้ ซึ่งล่าสุดมีหนังสือตอบกลับมาว่า เนื่องจากเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเงิน จะต้องรอให้นายกฯพิจารณาก่อน” ณัฐชา กล่าว

ณัฐชา ยังกล่าวถึงกรณีที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ มีมติปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาท แบบถ้วนหน้า ว่า “ทางรัฐบาลเองก็รับลูก ปรับเพิ่ม (เบี้ยผู้สูงอายุ) เป็น 1,000 บาท แม้ว่าจะแตกต่างกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการฯ 200 บาท แต่เราไม่ติดใจ เพราะอย่างน้อยๆก็ขยับมาเป็น 1,000 บาท ซึ่งเราเห็นด้วย”

ทั้งนี้ ภายใต้รายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานประชาชนฯ คณะกรรมาธิการฯ เสนอปรับฐานการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ เป็น 3 ระยะ ได้แก่

(1) ปีงบประมาณ พ.ศ.2568 จ่ายบำนาญผู้สูงอายุ จำนวน 1,200 บาท

(2) ปีงบประมาณ พ.ศ.2569 จ่ายบำนาญผู้สูงอายุ จำนวน 2,000 บาท

(3) ปีงบประมาณ พ.ศ.2570 จ่ายบำนาญผู้สูงอายุ จำนวน 3,000 บาท

ณัฐชา กล่าวต่อว่า ในการพิจารณาปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาท/เดือน นั้น รัฐบาลสามารถนำเอาข้อเสนอของคณะกรรมาธิการฯไปพิจารณาปรับใช้ได้ และการปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุดังกล่าว สามารถทำได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องไปขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) หรือขึ้นภาษีใดๆ เพียงแต่ต้องโยกงบประมาณที่มีอยู่หรือซ้ำซ้อนกันมาจัดสรรเป็นงบเบี้ยผู้สูงอายุ

“ทำได้ทันที (เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาท) ไม่ต้องไปเพิ่มภาษี ไม่ต้องเพิ่ม VAT อะไร แค่ปรับโยกเงินงบประมาณบางส่วนมาเท่านั้น เพราะในวงเงินงบประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท มันมีในส่วนที่ทับซ้อนกันอยู่ในเรื่องผู้สูงอายุ เราก็ปรับโยกมา แล้วยังมีเงินที่ได้จากการไม่มีผู้มาขึ้นเงินสลากกินแบ่งรัฐบาลอีกปีละ 7,000 ล้านบาท

หรือเงินจากภาษีใหม่ๆที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะถ้าเป็นนโยบายรัฐบาลแล้ว กรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต ให้ข้อมูลกับเราว่า สามารถโยกมาได้ รวมถึงเงินค่าก๊าซฯ และค่าเดินทาง ที่ผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ได้ใช้ ซึ่งมีถึง 4,000 ล้านบาท ก็โยกมาใส่ในสวัสดิการตรงนี้ เพื่อเป็นรายได้ผู้สูงอายุไปเลย” ณัฐชา ระบุ

ทั้งนี้ ณัฐชา ไม่ได้คาดหวังว่า จะได้เห็นการปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท ภายในอายุของรัฐบาลชุดนี้ เพราะการปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท ในขณะที่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี เช่น ในปี 2568 ที่คาดว่าจะมีผู้สูงอายุ 12 ล้านคน นั้น จะทำให้รัฐบาลต้องมีภาระงบประมาณสูงถึง 4 แสนล้านบาท และจำเป็นต้องมีการปรับเกณฑ์ในเรื่องภาษี

“ผมว่ามันต้องเป็นนโยบายของภาครัฐ ยกตัวอย่างเช่น เงินดิจิทัลวอลเลตใช้เงิน 5 แสนล้าน ถ้าเป็นนโยบายของรัฐบาล เขาก็ยินดีทำ ยินดีหาเงินมาให้ แต่พอเป็นเงินบำนาญ ไม่ได้เป็นนโยบายของรัฐบาล เพราะฉะนั้น การปรับโยกงบประมาณ และการปรับเกณฑ์ภาษี เพื่อสนับสนุนนโยบายนี้ ผมคิดว่ายังเป็นไปได้ยากในรัฐบาลนี้” ณัฐชา ระบุ

ณัฐชา กล่าวด้วยว่า “ถ้าพรรคเรา (ก้าวไกล) ได้กลับมาใหม่ นโยบายบำนาญ 3,000 บาท อยู่ต่อแน่นอน และไม่ว่าอย่างไร เราจะหาเงินมาทำโครงการนี้ได้อย่างนี้แน่นอน”

ท่ามกลางข้อเสนอในการจัดทำบำนาญประชาชน ผ่านการปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาท หรือการปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาทในอนาคต นั้น ได้มีข้อเสนอให้รัฐบาลเดินหน้าปฏิรูประบบงบประมาณ และปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษี เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในเรื่องบำนาญประชาชน

เช่นในรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานประชาชนฯ ได้มีข้อเสนอให้การจัดระบบการจัดสรรงบประมาณประจำปีใหม่ โดยปรับลดงบที่ไม่จำเป็นและไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน รวมถึงยกเลิกสิทธิพิเศษและค่าลดหย่อนทางภาษีสำหรับมหาเศรษฐีและกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เช่น ภาษี BOI

รายงานฯฉบับนี้ ยังเสนอให้ลดเกณฑ์ยกเว้นภาษีการรับมรดกที่มูลค่าตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป การเพิ่มอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะอัตราภาษีของประเทศไทยต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับสากล การปฏิรูปภาษีที่ดินแบบรวมแปลง การจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งจากผู้มีรายได้เกิน 300 ล้านบาท และเก็บภาษีกำไรจากหุ้น เป็นต้น

ขณะเดียวกัน เมื่อเร็วๆนี้ ‘คณะทำงานด้านภาษีและงบประมาณ’ ภายใต้คณะอนุกรรมการคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งมีกระทรวงการคลัง เป็นเจ้าภาพหลัก ได้รายงานความคืบหน้าในการหา ‘แหล่งเงิน’ สำหรับใช้ในการจัดทำบำนาญประชาชน รวมถึงสวัสดิการอื่นๆ ให้คณะอนุกรรมการฯรับทราบ

โดยเฉพาะการดำเนินการในส่วนกระทรวงการคลังนั้น ได้มีการมอบหมายให้กรมสรรพากร และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมกันพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง (Wealth Tax) ,การปรับปรุงภาษีการรับมรดก อาทิ ประเด็นการรับมรดกจากบิดามารดาจะเสียภาษีในอัตรา 5% จากส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท

รวมถึงการพิจารณาจัดเก็บภาษีผลได้จากทุน (Capital Gain Tax) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น ภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้น (Financial Transaction Tax) ,การพัฒนาภาษีผลได้จากทุน (Capital Gain Tax) ในอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มเติม จากปัจจุบันที่มีการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ ค่าจดทะเบียนการโอน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

นอกจากนี้ จะมีการพิจารณาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินฯใน ‘อัตราก้าวหน้า’ ซึ่งคำนวณภาษีตามขนาดการถือครองที่ดินหรือพื้นที่ใช้สอยของสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งปรับลดช่วงการยกเว้นภาษีที่ดินฯจาก 50 ล้านบาท เป็น 10 ล้านบาท เป็นต้น

ด้าน ศ.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบาย รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราถึงความเป็นไปได้ในการปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท/คนในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า ว่า คงไม่มีใครบอกได้ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะต้องขึ้นอยู่กับว่า 'ประเทศมีเงินแค่ไหน'

ศ.กนก ระบุว่า “ในการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ มีมติเพียงว่า ผู้สูงอายุจะได้รับ 1,000 บาท แบบถ้วนหน้าเท่ากันหมด คือ อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ก็ได้เท่ากันหมด มีเพียงเท่านั้นเอง ไม่มีมากไปกว่านั้น

ที่สำคัญคณะอนุกรรมการฯ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ขอให้คำนึงถึงขีดความสามารถทางการคลังของประเทศว่าจะรับสิ่งเหล่านี้ได้แค่ไหน เพราะถ้าขยับขึ้นไปมากขึ้น แล้วรัฐบาลไม่มีงบประมาณที่จะมาจ่าย มันก็จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศ มีการพูดเรื่องนี้ในประชุม”

ศ.กนก กล่าวต่อว่า ในเรื่องการปรับเพิ่มเงินผู้สูงอายุหรือการเพิ่มสวัสดิการให้กับประชาชนนั้น ควรแก้ปัญหาเรื่องอื่นๆประกอบกันด้วย ไม่ใช่รอแต่เพียงว่ารัฐบาลจะให้สวัสดิการเท่าไหร่ เช่น เราจะทำให้ผู้สูงอายุสามารถทำงานได้และยังมีรายได้ได้อย่างไร และทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพร่างกายและใจที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยเป็นภาระของประเทศ

“เราก็ได้ยินข่าวแล้วว่าเงิน สปสช. (กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ไม่พอ และก็มีปัญหาเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ตรงนี้เป็นสิ่งที่ทุกคน ไม่ใช่แค่รัฐบาล ต้องมาช่วยกันคิดว่า แนวคิดเรื่องขอให้รัฐบาลเป็นที่พึ่งในทุกกรณีที่เรียกว่าเป็นสวัสดิการถ้วนหน้านั้น ในความเป็นจริงเราทำได้แค่ไหน” ศ.กนก กล่าว

ศ.กนก กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการเก็บภาษีประเภทต่างๆ เช่น ภาษีความมั่นคง ว่า “ศึกษา มันศึกษาได้หมด แต่วันนี้ข้อเท็จจริง คือ มีคนเสียภาษีจริงมีประมาณ 5-6 ล้านคน จากคนยื่นภาษีฯ 20 ล้านคน เราจะทำอย่างไร ความหมายก็คือว่า สวัสดิการของรัฐ มันสัมพันธ์โดยตรงกับรายได้ของรัฐ ถ้าเราสามารถบริหารรายได้ของรัฐได้สูง เราก็สามารถมีสวัสดิการของรัฐได้สูง นั่นเป็นด้านหนึ่ง

แต่อีกด้านหนึ่ง เราต้องดูจากบทเรียนของประเทศในยุโรปต่างๆ ที่มีสวัสดิการเยอะๆ วันนี้เขาเกิดปัญหาขึ้นว่า คนไม่อยากทำงานแล้ว เพราะทำงานก็เสียภาษีเยอะมาก สู้เขาหยุดทำงานแล้วมารับสวัสดิการเลย ชีวิตเขาง่ายกว่าเยอะ ส่วนประเทศไทยเรา ยังไม่ถึงขั้นเป็นแบบนั้น ประเทศไทยก็ยังไม่ได้ร่ำรวย และถ้าประเทศไทยจะเป็นแบบนั้น เช่น เราไปขึ้นภาษีมาก แล้วคนมีความรู้สึกว่า ไม่อยากทำงานแล้ว เสียภาษีแบบนี้"

ก่อนหน้านี้ ศ.กนก โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว 'กนก วงษ์ตระหง่าน (Kanok Wongtrangan)' โดยมีเนื้อหาว่า "ถ้ารัฐบาลจ่ายเงินสวัสดิการทั่วหน้าให้ผู้สูงอายุเดือนละ 1,000 บาท จะต้องใช้งบประมาณ 144,000 ล้านต่อปี (สำหรับผู้สูงอายุ 12 ล้านคน) ถ้าเงินสวัสดิการผู้สูงอายุเพิ่มเป็นเดือนละ 3,000 บาท จะต้องใช้งบประมาณ 432,000 ล้านต่อปี

ในปี 2567 จำนวนผู้สูงอายุจะมี 13 ล้านคน จะต้องใช้เงิน 156,000 ล้านต่อปี (กรณีจ่ายสวัสดิการเดือนละ 1,000 บาท) และจะต้องใช้เงิน 468,000 ล้านต่อปี (กรณีจ่ายสวัสดิการเดือนละ 3,000บาท) และในปี 2570 จะมีผู้สูงอายุประมาณ 16 ล้านคน จะต้องใช้เงินสวัสดิการผู้สูงอายุปีละ 192,000 ล้านบาท(เดือนละ1,000บาท) และ 576,000 ล้านบาท (เดือนละ 3,000 บาท)

เงินสวัสดิการผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ เป็นโจทย์ท้าทายที่สำคัญ คือ เศรษฐกิจประเทศจะเติบโต และรัฐบาลจะเก็บภาษีได้มากพอที่จะจ่ายสวัสดิการนี้ได้อย่างไร ถ้าจะให้รัฐบาลกู้ทุกปีมาจ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุเช่นนี้ คงจะไม่มีใครให้กู้อย่างแน่นอน

ทั้งหมดของความเป็นจริงที่มองเห็นในอนาคตนี้ ประเด็นที่ท้าทายสำคัญ คือคนรุ่นใหม่ (ปัจจุบันอายุ 20-25 ปี) จะเพิ่มสมรรถนะและขีดความสามารถของตนเองที่จะสร้างรายได้ให้ประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โต และรัฐบาลเก็บภาษีได้มากพอที่จะรับภาระสวัสดิการผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ได้อย่างไร"

ขณะที่ ผศ.ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย นักวิจัยจากศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า การผลักดันในเรื่องบำนาญผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับเงิน 3,000 บาท/เดือน นั้น จะทำไม่ได้เลย หากไม่มีการเข้าไปแตะในเรื่อง 'โครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ'

“มันชัดเจนว่า ถ้าจะทำเรื่องนี้ (บำนาญผู้สูงอายุ) จะต้องไปแตะโครงสร้างความเหลื่อมล้ำด้วย เช่น ภาษี BOI ซึ่งจากข้อมูลการยกเว้นภาษี BOI ล่าสุด ที่มีการยกเว้นภาษี BOI เป็นจำนวน 2.8 แสนล้าน ให้กับบริษัทฯ 3 กลุ่ม คือ บริษัทที่ถือหุ้นโดยคนต่างชาติ บริษัทที่ถือหุ้นโดยคนไทย และบริษัทที่คนไทยถือหุ้นร่วมกับต่างชาติ

ปรากฏว่ามีคนไทยได้รับประโยชน์จากการยกเว้นภาษี BOI ถึงครึ่งหนึ่ง หรือคิดเป็นเงิน 1.4 แสนล้าน แล้วคำถามว่า คนที่เหลือในประเทศจะได้อะไร เพราะเขาไม่ได้รับการยกเว้นภาษีตรงนี้ และนี่ยังไม่รวมเรื่องการยกเว้นภาษีในพื้นที่อีอีซีอีก ซึ่งทุนใหญ่เขาได้เปรียบ” ผศ.ดร.ทีปกร กล่าว

ทีปกร ยังระบุว่า ไม่เชื่อว่าจะได้เห็นการปรับเพิ่มบำนาญผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาทในรัฐบาลชุดนี้ เพราะหากฟังจุดยืนของ รมว.พม. (วราวุธ ศิลปอาชา) ที่ให้สัมภาษณ์ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา รมว.พม.บอกว่าอยากทำ แต่ทำไม่ได้ เพราะมีผู้เสียภาษีมีเพียง 4 ล้านคน รวมถึงจุดยืนของหน่วยงานรัฐเอง ก็ยังไม่มีความชัดเจนในการทำเรื่องนี้

“การจะดันให้ไปถึง 3,000 บาท คงไม่ง่าย เพราะแม้ว่าจะมีเอกสารภายในของกระทรวงการคลังที่ระบุว่า ถ้าปฏิรูปการคลังและปฏิรูปภาษีต่างๆแล้ว ภายใน 4-5 ปี จะสามารถหารายได้ได้ 4 แสนล้านบาท

แต่พออยู่ในที่ประชุมร่วมกับภาคประชาชน หน่วยงานเศรษฐกิจก็มาปกป้องเรื่องการหลีกเลี่ยงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกลุ่มทุนในเรื่องการปลูกกล้วย และปลูกมะนาว ด้วยการอ่านกฎหมายให้ฟังว่า เขาทำตามกฎหมาย

หรือหน่วยงานที่เกี่ยวกับเงินๆทองๆของประเทศ มาปกป้องและตอบคัดค้านข้อเสนอให้ตัดงบกลาโหม โดยบอกว่าเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล นโยบายความรับผิดชอบ และวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน” ผศ.ดร.ทีปกร ระบุ

ทีปกร ยังย้ำว่า "ควรให้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสังคมด้วยว่า ไม่ใช่คนจ่ายภาษีแค่ 4-5 ล้านคน เพราะทุกคนในสังคมได้ร่วมกันจ่ายภาษีผ่านการบริโภคสารพัด เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีศุลกากร ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ภาษีเครื่องดื่ม ภาษีเครื่องใช้ไฟฟ้า ภาษีรถยนต์รถจักรยานยนต์ ภาษีเหล้าบุหรี่ เป็นต้น

นอกจากนี้ หากจำแนกตามมูลค่าเป็นตัวเงิน พบว่าในปีงบ 2566 เราจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแค่ 4 แสนล้านบาท ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) จัดเก็บได้ 9 แสนล้านบาท แน่นอนว่า คนรวยเสียภาษีเป็นมูลค่ามากกว่า ซึ่งก็ถูกต้องแล้วตามหลักความเป็นธรรมในแนวดิ่ง (vertical equity) คือ คนมีโอกาสมากกว่า เข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่า ก็ควรจะต้องเสียภาษีมากกว่า

แต่เมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้แล้ว คนรวยสุดบนยอดปิรามิด กลับมีอัตราภาษี effective tax rate ที่น้อยกว่า เพราะการได้ลดหย่อนยกเว้นภาษีในแบบที่คนธรรมดาทั่วไปหรือ SMEs ไม่มีสิทธิ์"

ผศ.ดร.ทีปกร ทิ้งท้ายว่า “ชัดเจนว่าเรื่องนี้ (บำนาญผู้สูงอายุ) เป็นเรื่องการต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรว่า จะทำอย่างไรให้มีการขยับสวัสดิการของคนไทยขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่าย และเมื่อพิจารณาในแง่ปริภูมิทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของประเทศโดยรวมแล้ว คงไม่ใช่เรื่องบำนาญผู้สูงอายุอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไรให้ลดความเหลื่อมล้ำให้ได้

ทำอย่างให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น ไม่ใช่ไปกดค่าแรงเขาทั้งชีวิต เอารัดเอาเปรียบผู้ค้ารายย่อย และคนที่ขายอาหารตามสั่งต้องพ่ายแพ้กลุ่มทุนใหญ่ คนทำงานทั้งชีวิตรับใช้กลุ่มทุน เพื่อให้กลุ่มทุนใหญ่เก็บกำไรได้มากขึ้น แล้วนำไปลงทุนในสิ่งที่หลีกเลี่ยงภาษีได้มากกว่า SME ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ไม่สามารถถอดออกจากสมการในเรื่องบำนาญผู้สูงอายุได้”

จากนี้ไปคงต้องติดตามว่า คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จะมีมติ 'เห็นชอบ' ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ ในการปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาท 'แบบถ้วนหน้า' หรือไม่ และหากคณะกรรมการฯเห็นชอบ ก็จะนำเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติอีกครั้ง ก่อนเดินหน้าปรับเพิ่ม 'เบี้ยสูงอายุ'

และนี่จะเป็นการ 'ปูทาง' ไปสู่การจัดทำ ‘บำนาญประชาชน’ 3,000 บาท หรือไม่? ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไป!

https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/127463-gov-Elderly-allowance-1000-baht-to-public-pension-report.html




Tags :

 
Menu
หน้าแรก
เครือข่ายผู้บริโภค
ศูนย์ราชการสะดวก
สื่อวิทยุสมาคม
ข่าวสาร
สรุปกิจกรรม 2566
สรุปกิจกรรม 2565
สรุปกิจกรรม 2564
สรุปกิจกรรม 2563
สรุปกิจกรรม 2561
สรุปกิจกรรม 2560
สรุปกิจกรรม 2559
สรุปกิจกรรม 2558
สรุปกิจกรรม 2557
สรุปกิจกรรม 2556
สรุปกิจกรรม 2555
สรุปกิจกรรม 2554
สรุปกิจกรรม 2553
สรุปกิจกรรม 2562
การร้องเรียน
ติดต่อเรา
แผนผังเว็บไซต์
สถิติเรื่องร้องเรียน
สมัครสมาชิก
เว็บบอร์ด
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 09/12/2010
ปรับปรุง 27/04/2024
สถิติผู้เข้าชม1,745,873
Page Views2,011,048
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
view